-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

รัฐบาลไทยกับฝรั่งเศสขัดแย้งกัน

ในปี พ.ศ. 2437 รัฐบาลฝรั่งเศส  ได้แต่งตั้งให้  เรสิดอง  บัสตา  เป็นแม่ทัพ  พร้อมด้วยนายร้อยเอก โทเรอร์  และนายร้อยตรี โมโซ ร่วมกับ มองซิเออร์ ปรูโซ คุมกองทัพญวน จากเมืองไซ่ง่อนจำนวน 200 คน และยังได้กำลังจากเมืองเขมร  เมืองพนมเปญ  อีกเป็นจำนวนมากลงเรือ  33 ลำ พร้อมด้วยศาสตราวุธ ยกมาเป็นกระบวนทัพล่องขึ้นมา ตามลำแม่น้ำโขงเข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้ขับไล่ทหารที่รักษาด่านบาเลา  แขวงเมืองเชียงแตง และด่านสามโบกยึดเอาเมืองทั้งสองได้ ต่อมาได้ยึดเมืองเชียงแตงอีก  ทำให้ต้องเกิดสงครามขึ้น  พระเจ้าอยู่หัวทรงมีบัญชาให้ พระประชาคดีกิจ ( แช่ม) ข้าหลวงฝ่ายไทย  ประจำเมืองสีทันดรคอยปะทะและตีสกัดกั้นไว้และ ในเวลาเดียวกันนั้น พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว  ประทับอยู่  ณ เมืองอุบล  ได้ขอกำลังพลจากเมืองขุขันธ์  เมืองศรีสะเกษ  เมืองสุรินทร์  และเมืองมหาสารคาม รวมทั้งเมืองร้อยเอ็ด  เมืองละ 800 คน  เมืองสุวรรณภูมิ  เมืองยโสธร  เมืองละ 500  คน  ร่วมกันเป็นกองทัพยกไปสู้รบกับฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม  แม้จะได้กองทัพจากเมืองต่าง ๆ  ดังกล่าวแต่ก็ยังไม่พอที่จะสู้รบกับกองทัพฝ่ายฝรั่งเศสได้  จึงได้เกณฑ์ไพร่พลจากเมืองขุขันธ์เพิ่มอีก 500  คน โดยให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) ข้าหลวงเมืองขุขันธ์  คุมกำลังไปตั้งทัพรักษาอยู่  ณ  เมืองมโนไพรและเมืองเซลำเภา  นอกจากนี้แล้ว  พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงเทพนรินทร์ (วัน)  ซึ่งกลับจากการปฏิบัติภารกิจที่เมืองตะโปน ไปเป็นข้าหลวงแทน พระศรีพิทักษ์ ประจำอยู่เมืองขุขันธ์  พร้อมทั้งได้มีบัญชาให้เมืองใหญ่ทุกเมืองในมณฑลลาวกาวเตรียมกำลังพลให้พร้อมไว้อีกเมืองละ 1,000  คน

วันที่ 29  เมษายน พ.ศ. 2437 พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ราชวงศ์  ราชบุตรเมืองยโสธร  คุมกำลังพลเมืองยโสธรจำนวน 500  คน และอุปราช (บัว) คุมไพร่พล จากเมืองกมลาสัย 500 คน รวมเป็น1,000 คน พร้อมศาสตราวุธยกพลไปสมทบกับกองทัพพระประชาและนายสุดจินดา  ที่เมืองสีทันดร และยังโปรดเกล้าฯ ให้พระไชย ผู้ช่วยเมืองศรีสะเกษ คุมไพร่พล เมืองศรีสะเกษ  อีก 500 คน พร้อมศาสตราวุธ  ยกไปตั้งกองกำลังรักษาอยู่ ณ ช่องโพย  และด่านพระประสบ   แขวงเมืองขุขันธ์ โดยได้มีการเสริมกำลังอยู่ตลอดเวลา จนต้องเกิดการสู้รบกันขึ้น ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก  

วันที่ 20 พฤษภาคม  พ.ศ. 2437  พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ยกกองทัพจากเมืองสุวรรณภูมิและเมืองร้อยเอ็ด เมืองละ 500 คน ให้ยกไปช่วยพระประชา  ณ  ค่ายดอนสาคร  นอกจากนี้ยังทรงให้เมืองจตุรพักร  เมืองร้อยเอ็ด  เมืองมหาสารคาม 525 คน ยกไปรักษา ณ  เมืองมโนไพร  และด่านลำจาก โดยได้ให้เปลี่ยนเอาพระศรีพิทักษ์ (หว่าง) กลับมาตั้งรักษาฐานที่มั่นอยู่  ณ ช่องโพย  และให้นายร้อยตรีวาด ไปนำเอากำลังพลจาก ”เมืองขุขันธ์” อีกจำนวน 500 คน  แล้วส่งไปเพิ่มเติมให้กองกำลัง  พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) โดยให้เจ้าเมืองจากศรีสะเกษส่งเสบียงอาหารไปยังกองพระศรีพิทักษ์ ส่วนกองกำลังที่ได้ตั้งประจันหน้ากัน ณ บริเวณลำน้ำโขง ได้มีการต่อสู้กันด้วยปืนเล็ก ปืนใหญ่  กันเป็นระยะ ๆ ทำให้กำลังทั้งสองฝ่ายมีการล้มตายและบาดเจ็บกันเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สงครามครั้งนี้ได้ยุติลงได้ในที่สุดโดยฝ่ายไทยได้เรียกกองทัพทุกกองกลับและตกลงทำสัญญากันใน วันที่ 3 ตุลาคม 2437 การทำศึกสงครามครั้งนี้กินเวลาครึ่งปี โดยมีกำลังพลจากเมืองขุขันธ์ เป็นกำลังสำคัญในการรักษาอาณาเขตประเทศสยามเอาไว้ได้ โดยหลังจากเสร็จศึกสงครามกับฝรั่งเศสในครั้งนี้แล้ว เจ้าเมืองขุขันธ์ คือ  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา)  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 มีความชอบได้รับโปรดเกล้าฯ คำนำหน้าบรรดาศักดิ์ ในราชทินนามใหม่ว่า  “อำมาตย์ตรี  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน”ตั้งแต่นั้นมา 

ขอบพระคุณผู้เขียน : นายนิติภูมิ  ขุขันธิน,2547. 
ผู้ตรวจ/ทาน : นายสุเพียร  คำวงศ์,2556.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย