-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อาณาจักรฟูนันและอาณาจักรเจนละ

อาณาจักรฟูนัน และ อาณาจักรเจนละ

            ในพุทธศตวรรษที่ 1(พ.ศ.1 -100 หรือ ราว 2500 ปีก่อน)  กลุ่มชาติพันธุ์ขอม - มอญ[Khom - Mon] ซึ่งฝรั่งเศษบิดเบือนชวนให้เรียกว่า มอญ-เขมร (Mon - Khmer หรือ ออสโตรเอเซียติก) เพื่อหวังผลบางประการ  อพยพจากจีนตอนใต้ มาอยู่ในสุวรรณภูมิ หรือเอเซียอาคเนย์ โดยกลุ่มมอญอพยพตามแม่น้ำสาละวิน ซึ่งภายหลังสถาปนาอาณาจักร สุธรรมวดี(สะเทิม) ปัจจุบันคือพื้นที่ภาคใต้ตอนบนของพม่า ส่วนกลุ่มเขมรอพยพตามแม่น้ำโขง ภายหลังสถาปนาอาณาจักรขอมที่ยิ่งใหญ่ 
            ในราวพุทธศตวรรษที่ 6 จนถึงราว พ.ศ. 1100 เกิดอาณาจักรฟูนัน (Funan) จีนเรียกว่า "ฝูหนาน" ถือเป็นอาณาจักรเก่าแก่แรกสุดของชนเชื้อสายขอมที่อยู่ทางใต้แหลมอินโดจีน มีเมืองหลวงตั้งอยู่แถบเมืองบาพนม เมืองเปรเวง ในเขมร และจังหวัดออกแอ้ว (Oc-Eo) ในประเทศเวียดนาม อันเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเล ตรงดินดอนสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน
            นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า “ฟูนัน “ถ่ายเสียงมาจากคำว่า “พนม” ที่แปลว่าภูเขา และยังเป็นตำแหน่งของกษัตริย์ที่มีความหมายว่า “เป็นราชาแห่งภูเขา “ บันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวจีนเลยเรียกพระนามกษัตริย์ตามชื่ออาณาจักร ซึ่งฟูนันในยุคนั้นได้รับอิทธิพลศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ในชวาและคาบสมุทรอินโดจีน โดยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง อาณาจักรฟูนัน มีเมืองหลวงชื่อ “นะกวร  โคกทะโหลก” แปลว่า นครเนินต้นพอก ซึ่งชาวตะวันตก หรือ พวกฝรั่ง ออกเสียงว่า นอโก Nor-Kor ออกเสียงเพี้ยนมาจากภาษาขอม คือคำว่า นคร / นะกวร / = นคร หมายถึง เมืองใหญ่  โคก = เป็นภาษาขอม แปลว่า ที่สูง บริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง , ทะโหลก = ต้นพอก) “นะกวร โคกทะโหลก” คือ เมืองใหญ่ในบริเวณเนินที่มีต้นพอกขึ้นชุกชุม , เมืองใหญ่ในบริเวณที่สูงซึ่งมีป่า ประกอบด้วยหมู่ต้นพอกขึ้นหนาแน่น , ชุมชนใหญ่ในหมู่ป่าไม้ที่เต็มไปด้วยต้นพอก , นครแห่งหมู่ไม้จำพวกต้นพอก
            พุทธศตวรรษที่ 11 (ราวพ.ศ.1001-1100) อาณาจักรฟูนันอ่อนแอลงและล่มสลาย พระเจ้าภววรมันที่ 1 ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์องค์หนึ่งของอาณาจักรฟูนัน ก็ได้ประกาศตนเป็นอิสระ แยกตัวออกมาจากอาณาจักรฟูนัน รวบรวมกำลังมาตั้งอาณาจักรแห่งใหม่ขึ้น เรียกว่า อาณาจักรเจนละ คำว่า เจนละ มาจากภาษาขอมว่า “ ชัานเลี” ออกเสียงตามภาษาขอม ว่า เจื็อนเลอ หมายถึง ข้างบน ชั้นบน ที่ข้างบน ด้านเหนือ อันหมายถึง ดินแดนที่อยู่เหนือทะเลสาบเขมรในปัจจุบันขึ้นมา ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีได้นำเอาจดหมายเหตุของชาวจีนที่บันทึกไว้ในราวพุทธศตวรรษที่ 6 ไปตรวจสอบพร้อมทั้งพิจารณาหลักฐานที่ได้จากศิลาจารึกและโบราณวัตถุต่างๆที่ค้นพบ ต่างมีความเห็นตรงกันว่าอาณาจักรเจนละนั้น จุดเริ่มต้นน่าจะมีถิ่นที่อยู่แถบเมืองเศรษฐปุระ ในบริเวณแถวปราสาทวัดภู ริมฝั่งแม่น้ำโขง แคว้นจำปาสัก ในประเทศลาวปัจจุบันนั่นเอง ต่อมาก็ได้ขยายอาณาเขตลงมาสู่ตอนล่าง ในถิ่นที่เคยเป็นอาณาเขตแว่นแคว้นของอาณาจักรฟูนันมาก่อนและได้สถาปนาศูนย์กลางอาณาจักร ในบริเวณแถบเมืองภวปุระ (เหนือกำปงธม) เหนือทะเลสาบใหญ่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบันในระหว่าง ที่พระเจ้าภววรมันที่ 1 ยังทรงครองราชย์อยู่นั้น พระอนุชาของพระองค์ ชื่อเจ้าชายจิตรเสน ก็ได้ทำการขยายอาณาเขตและรวบรวมเอาบ้านเมืองน้อยใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง แล้วแผ่อาณาเขตลงสู่ดินแดนเขมร ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยทุกครั้งที่ทรงได้รับชัยชนะหรือแผ่อำนาจไปถึงพระองค์ก็จะสร้างศาสนสถานและรูปเคารพ พร้อมกับจารึกขึ้นเพื่อเป็นการอุทิศถวายแด่พระศิวเทพ ทั้งนี้พระองค์ยังได้มีพระราชประสงค์เพื่อจะให้เป็นที่เคารพสักการะแก่ปวงพสกนิกรของพระองค์ ณ บริเวณชุมชนแห่งนั้นๆด้วยจารึกจิตรเสน
            หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ชี มูล หลักฐานการ แพร่กระจายของวัฒนธรรม เจนละ หรือ วัฒนธรรมขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14) เข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นจารึก ซึ่งจารึกที่พบในประเทศไทยนี้ มักมีข้อความสอดรับกันดี กับจารึกที่พบในประเทศกัมพูชา และจดหมายเหตุจีน สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อใดที่กษัตริย์ที่ทรงอานุภาพขึ้นครองราชย์ที่ราชธานีของอาณาจักรขอมแล้ว ก็มักจะแผ่พระเดชานุภาพ เข้าไปในดินแดนใกล้เคียง รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งหลักฐานจากจารึกเหล่านี้ ทำให้เชื่อกันว่า ในช่วงเวลานั้น อาณาจักรเจนละ ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง เขตเมืองจำปาสัก  ประเทศลาวปัจจุบัน มีเศรษฐปุระเป็นศูนย์กลาง ศาสนสถานหลักของชุมชนแห่งนี้คือ วัดภู กับดินแดนประเทศไทย น่าจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ตั้งแต่ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 12 พระเจ้าจิตรเสน หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงพระนามว่า "พระเจ้ามเหนทรวรมัน" เป็นกษัตริย์องค์สำคัญของเจนละ ที่เรืองอำนาจมากพระองค์หนึ่ง หลักฐานเกี่ยวกับอำนาจของพระองค์นั้น พบอยู่เป็นจำนวนมาก ในดินแดนภาคใต้ของประเทศลาว และบริเวณภาคเหนือ ของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน แต่ที่พบมากที่สุดนั้น น่าจะได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
            พระเจ้าจิตรเสน ทรงเป็นเจ้าชายที่มีความเชี่ยวชาญการศึกสงคราม จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ซุย เมื่อประมาณ พ.ศ. 1132-1161 ได้บันทึกไว้ว่า “พระเจ้าจิตรเสนพระองค์นี้น่าจะได้เผชิญศึกสงคราม ควบคู่ไปกับพระเชษฐาของพระองค์ คือ พระเจ้าภววรมันที่ 1 เจ้าชายทั้ง 2 พระองค์ ทรงเป็นนักรบ ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ก่อตั้งอาณาจักรเจนละขึ้น โดยยกกองทัพต่อต้านอาณาจักรฟูนันจนประสบชัยชนะ ทุกครั้งที่พระเจ้าจิตรเสนได้รับชัยชนะ ก็จะสร้างศาสนสถานพร้อมทั้งจารึก ประกาศพระราชประสงค์ที่สร้างรูปเคารพขึ้น เป็นการอุทิศถวายแด่พระศิวะเทพเจ้า โดยมีพระประสงค์ จะให้เป็นที่สักการะบูชาของปวงชน ณ อาณาบริเวณนั้นๆ อีกทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และเป็นที่ระลึกแห่งชัยชนะของพระองค์ด้วย หลักฐานเก่าที่สุดที่พบในประเทศไทย ได้แก่ ศิลาจารึกที่ระบุพระนามของพระเจ้าจิตรเสน หรือ พระเจ้ามเหนทรวรมัน ปัจจุบันนี้พบแล้ว จำนวน 10 หลัก มีทั้งจารึกอยู่บนแท่งหิน ที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ บนฐานประติมากรรม และบนผนังถ้ำ จารึกไว้ด้วยภาษาสันสกฤตเหมือนกันทุกหลัก ถึงแม้จะไม่ปรากฎศักราช แต่เมื่อศึกษาวิเคราะห์รูปอักษรในจารึกแล้ว ทราบว่าเป็นรูปอักษรปัลลวะ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 จารึกเหล่านี้ พบอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 5 หลัก ได้แก่ จารึกปากแม่น้ำมูล 1 และ 2 จารึกปากโดมน้อย จารึกวัดสุปัฏนาราม และ จารึกถ้ำภูหมาไน จารึกถ้ำเป็ดทอง 3 หลัก ที่อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณลุ่มแม่น้ำชีตอนบนพบจารึกวัดศรีเมืองแอม ที่อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ในภาคตะวันออก พบจารึกช่องสระแจง ที่อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว หากเชื่อว่าจารึกที่กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ขอม ปรากฏอยู่ ณ ที่ใด ก็อาจจะแสดงถึงความสัมพันธ์ ระหว่างราชอาณาจักรขอมกับดินแดนนั้นๆ แล้ว
            จากจารึกเท่าที่พบแล้วในปัจจุบัน ทำให้ทราบถึง ร่องรอยความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเจนละ ในรัชกาลพระเจ้ามเหนทรวรมันนี้ มีอาณาเขตครอบคลุม ลำน้ำโขง ตั้งแต่เมืองภวปุระ ซึ่งเป็นเมืองราชธานีในเขตประเทศกัมพูชา ผ่านเมืองจำปาสัก เขตประเทศลาว เข้าสู่ดินแดนทิศตะวันตกเขตประเทศไทย ที่ปากแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี ล่องตามลำน้ำเข้ามาถึงบริเวณจังหวัดบุรีรัมย์ และขึ้นมาตามลำน้ำ ที่จังหวัดขอนแก่น ส่วนดินแดนตอนใต้นั้นเข้าไปถึง บริเวณเทือกเขาดงรัก ที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ในลุ่มแม่น้ำบางปะกง และบางทีอาจจะเลยเข้าไปถึงลุ่มแม่น้ำป่าสัก ที่จังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย
            หลักฐานจากจารึกที่กล่าวมานี้ นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์รุ่นแรกสุดที่พบ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ระหว่างชุมชนโบราณในแถบอีสาน กับอาณาจักรเจนละทั้งด้านการปกครอง และศาสนาระยะแรกเริ่มโดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ข้อความในจารึกทั้งหมด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
            1.กล่าวถึงพระนามพระเจ้าจิตรเสน ไม่ได้กล่าวถึงพระนาม พระเจ้ามเหนทรวรมัน ได้แก่จารึกถ้ำเป็ดทอง แสดงว่ามีการจารึกในสมัยที่พระองค์ยังเป็นพระเจ้าจิตรเสน ทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ตามบรรพบุรุษ เมื่อทำสงครามชนะข้าศึกแล้ว พระองค์ได้สร้างศิวลึงค์ ด้วยความภักดีตามคำสั่งของพระบิดาและพระมารดา
            2.กล่าวถึงพระประวัติพระเจ้ามเหนทรวรมัน ในการสร้างศิวลึงค์ไว้เป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์ ได้แก่ จารึกปากน้ำมูล 1 และ 2 จารึกวัดสุปัฏนาราม และจารึกปากโดมน้อย
            3.กล่าวถึงพระประวัติ พระเจ้ามเหนทรวรมัน เหมือนกลุ่มที่ 2 แต่ตอนท้ายต่างกัน คือ ให้สร้าง โคอุสภะ ไว้เป็นสวัสดิมงคล แก่ชัยชนะของพระองค์ ได้แก่จารึกถ้ำภูหมาไน และจารึกวัดศรีเมืองแอม
            4.กล่าวถึงการสร้างบ่อน้ำไว้ให้แก่ประชาชน ในจารึกช่องสระแจงในกลางพุทธศตวรรษที่ 12 เจ้าชายจิตรเสน ก็ได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเจนละสืบแทนพระเจ้าภววรมันที่ 1ทรงพระนามว่า พระเจ้ามเหนทรวรมัน ทำให้อาณาจักรเจนละของพระองค์ ยิ่งแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตั้งแต่เมืองภวปุระ (เหนือกำปงธม) ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน ขึ้นไปจนถึงแคว้นจำปาศักดิ์ของประเทศลาว และเข้าสู่ดินแดนของประเทศไทยที่ปากน้ำมูล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ขยายไปตามลุ่มแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีไปจนถึงลุ่มน้ำป่าสัก และดินแดนทางใต้ ตั้งแต่บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ไปจนถึงลุ่มน้ำบางปะกง บางส่วนอีกด้วยในขณะเดียวกัน พระองค์ก็ยังทรงมีสัมพันธ์ไมตรีที่ดีกับอาณาจักรจามปา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของอาณาจักรเจนละออกไป

            พระเจ้ามเหนทรวรมัน ทรงมีพระราชโอรสอยู่พระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า "อีสานวรมัน" (Isanavaraman) ซึ่งต่อมาก็ทรงได้เป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งและได้สร้างราชธานีขึ้นที่เมืองอีสานปุระ ซึ่งก็คือ เมืองสมโบไพรกุก(Sambor Prei Kuk) ประมาณพ.ศ. 1188 - 1224 ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดกำปงธม ในบริเวณโรงเรียนมัธยมที่ชื่อว่า "วิทยาลัยกัมปงเฌอเตียล" (Kampong Chheuteal High School) อำเภอปราสาทซ็อมโบร์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดกำปงธมประมาณ 35 กิโลเมตร โรงเรียนนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn) ทรงสร้างให้กัมพูชา เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543 แล้วเสร็จเมื่อปี 2548
            ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 อาณาจักรเจนละก็เริ่มอ่อนแอลงเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 อาณาจักรเจนละก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นอาณาจักรเจนละบก และอาณาจักรเจนละน้ำ
            บริเวณอาณาจักรเจนละบก นั้น เข้าใจว่าว่าน่าจะครอบคลุมอยู่ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งดินแดนในเขตภาคอีสานของประเทศไทย และดินแดนบางส่วนของประเทศลาวตั้งแต่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ลงมาถึงจำปาสัก ส่วนบริเวณอาณาจักรเจนละน้ำ น่าจะครอบคลุมลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ และบริเวณทะเลสาบใหญ่ของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน
            เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14 เริ่มเข้ายุคทองของอาณาจักรขอม เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่ออาณาจักรศรีวิชัย แห่งหมู่เกาะชวา ทรงรวบรวมอาณาจักรเจนละบก และเจนละน้ำให้เป็นปึกแผ่น ทรงรับลัทธิไศเลนทร์ หรือ “ เทวราชา ” จากชวา มาสถาปนาในอาณาจักรของพระองค์ จนเกิดเป็นราชประเพณีในการสร้างปราสาทหรือเทวาลัย ซึ่งเป็นศาสนสถานบนฐานเป็นชั้นถวายเป็นทิพย์วิมานของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์และเป็นราชสุสานของกษัตริย์ขอมยามเสด็จสวรรคต และหลอมดวงพระวิญญาณเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้าที่พระองค์นับถือ กล่าวได้ว่าได้ทรงนำความเชื่อใหม่ๆเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ศิลปะ  ชะตากรรมของชาวขอม ทั้งนี้เรื่องราวของรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกค้นพบที่ปราสาทสดกก๊กธม บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เขตอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร จากหลักฐานทางโบราณคดีระบุว่า เมืองหลวงของอาณาจักรขอมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 มีหลายแห่ง เช่น ที่อมเรนทรปุระ บนเทือกเขาพนมกุเลน ทางตะวันตกของนครวัด เมืองหริหราลัย ที่ตำบลโรลูสในปัจจบัน ซึ่งที่ตำบลโรลูสนี้เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 พระเจ้าชัยวรมันที่ 3 พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 และพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 จึงปรากฏมีปราสาท หรือเทวสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ปราสาทพระโค บากอง โรลูส
            การที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 สามารถรวบรวมอาณาจักรเจนละทั้งสองเข้าด้วยกันได้ และปลดแอกเจนละออกจากการเป็นเมืองขึ้นของชวา แล้วได้สถาปนาระบบเทวราชาขึ้น ถือว่าเป็นการพัฒนาการของอาณาจักรเจนละ ก่อเกิดเป็นอาณาจักรกัมพูชา โดยมีศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่เมืองพระนคร และสามารถติดต่อกับดินแดนที่ราบสูงทางภาคอีสานของไทย โดยผ่านขึ้นมาตามช่องเขาต่างๆของเทือกเขาพนมดงรัก
            หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการคมนาคม หรือการเดินทางไปมาติดต่อกันระหว่างอาณาจักรเจนละน้ำในดินแดนเขมรต่ำ และเจนละบกในดินแดนที่ราบสูงของเขตอีสานในประเทศไทยนั้น ซึ่งในปัจจุบันเราก็ได้เห็นซากปรักหักพังของเทวาลัย หรือ เทวสถาน ที่เราเรียกว่า "ปราสาท" นั้นกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ตั้งแต่เมืองพระนคร (นครวัด - นครธม จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา) เรื่อยมาจนถึงทั่วภาคอีสานของประเทศไทย พระเจ้ามเหนทรวรมัน กษัตริย์แห่งอาณาจักรเจนละ ทรงเป็นแบบอย่างอันดียิ่งของกษัตริย์ขอมในยุคต่อๆมา คือนับตั้งแต่พระเจ้าอีสานวรมัน และพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ในปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นยุคก่อนเมืองพระนครเรื่อยมา จนกระทั่งถึงยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมผู้ยิ่งใหญ่ในยุคของเมืองพระนคร หรือในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งต่อมากษัตริย์ขอมทุกพระองค์ทรงโปรดให้สร้างศาสนสถาน หรือสิ่งก่อสร้างอันเป็นสัญลักษณ์ต่างๆขึ้น ตามอย่างบุรพกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ เพื่อใช้เป็นสถานที่ แสดงความเคารพบูชาต่อเทพเจ้าในชุมชนต่างๆตามความเชื่อทางศาสนาในการสร้างปราสาท หรือเทวาลัย จะมีการจัดสร้างบาราย หรือสระน้ำ เพื่อที่จะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันของประชาชน รวมทั้งการสร้างบรรณาลัยหรือห้องสมุดไว้สำหรับเป็นที่เก็บพระคัมภีร์ทางศาสนา และการสร้าง อโรคยาศาลาหรือโรงพยาบาล ไปพร้อมๆกันในบริเวณนั้นด้วยเสมอ                    อารยธรรมที่เกิดขึ้นบนพื้นแผ่นดินอีสานของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ นับตั้งแต่พระเจ้ามเหนทรวรมันเป็นต้นมา ได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางตามแบบฉบับของอารยธรรมที่มีลักษณะเป็นของตนเองโดยเฉพาะ คือการเป็นสังคมทางด้านเกษตรกรรม ที่มีผู้นำหรือชนชั้นปกครองนับถือทั้งศาสนาฮินดูทั้งลัทธิไศวนิกาย และลัทธิไวษณพนิกาย โดยในส่วนของประชาชนนั้นสามารถเลือกที่จะนับถือได้ทั้งศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ โดยมีสภาพชีวิตทางสังคมที่ผสมผสานกันไป และภาษาที่ใช้กันในยุคนั้นมีทั้งภาษาบาลี สันสกฤต ภาษามอญ และ ภาษาขอม

อาณาจักรขอม
            นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 มาจนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 18 แผ่นดินอีสานของประเทศไทย ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรขอมมาโดยตลอด จึงทำให้มีมรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นผลมาจากความเชื่อทางศาสนาได้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของการสร้างปราสาท และเทวาลัยรวมทั้งรูปเคารพต่างๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป บนพื้นแผ่นดินอีสานของไทยในปัจจุบัน  เนื่องจากเมืองพระนคร (บริเวณนครวัด-นครธม) อันเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรขอมโบราณยุคหลัง  มีระยะห่างจากดินแดนอีสานของประเทศไทยปัจจุบันเพียงประมาณ 200 กิโลเมตรเท่านั้น ทำให้ดินแดนอีสานส่วนนี้กลายเป็นดินแดนที่กษัตริย์ขอม   นับตั้งแต่พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 จนถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ขยายอำนาจเข้ามาปกครองและโปรดให้สร้างศาสนสถานเพื่อเป็นการสืบสานพระศาสนามาตลอด

            สำหรับกษัตริย์ที่เป็นที่ยอมรับโดยคนทั่วไปว่าเป็นพระมหากษัตริย์ขอมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่ง คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์ได้ทรงขยายพระราชอาณาเขตไปอย่างกว้างขวาง และยังได้ทรงสร้างศาสนสถานเอาไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งในราชธานีและหัวเมืองต่างๆที่พระราชอำนาจได้แผ่ไปถึงงานทางสถาปัตยกรรมที่พระองค์ทรงสร้างเอาไว้รวมไปถึงพระนครธม ซึ่งมีกำแพงแต่ละด้านยาวถึง 12 กิโลเมตร และมีคูเมืองขนาดมหึมาล้อมรอบโดยมี ปราสาทบายน เป็นศูนย์กลางของพระนครธมอันยิ่งใหญ่ คูเมืองในสายทางที่ล้อมรอบปราสาทนครวัดที่เรียกโดยชาวกัมพูชาว่า ปราสาทองค์เล็ก เรียกว่า วงเล็ก และสายทางที่ล้อมปราสาทบายนที่เป็นศูนย์กลางของพระนครธมอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า วงใหญ่ นอกจากนั้นแล้ว พระองค์ยังได้สร้างปราสาทองค์เล็กๆเพื่อเป็นที่พักสำหรับคนเดินทาง หรือ ที่เรียกว่า “บ้านพักคนมีไฟ” เอาไว้อีกถึง 102 แห่ง กระจายไปทั่วทั้ง 4 ทิศ ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร เราจึงอาจพูดได้ว่า ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในพระราชอาณาจักรขอมที่สามารถนำหินจำนวนมากมายเหลือจะคณานับ มาก่อสร้างปราสาท หรือโบราณสถานได้มากเท่ากับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

            ภายหลังจากการสิ้นสุดในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นี้ไปแล้ว อาณาจักรของขอม ก็เริ่มเสื่อมลง จึงทำให้พระราชอาณาจักรขอม  อันมีนครวัด-นครธมเป็นศูนย์กลางได้เสื่อมสลายลงไป 


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย