-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมืองขุขันธ์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

เมืองขุขันธ์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย


           เมืองขุขันธ์  ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.. ๒๓๐๒ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตรงกับรัชสมัยพระที่นั่งสุริยามรินทร์หรือพระเจ้าเอกทัศน์  กษัตริย์องค์สุดท้าย   บริเวณที่ตั้งเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  ก่อนตั้งเป็นเมืองยังคงเป็นป่าดงพงพี  มีชุมชนชาวเขมร กูย หรือกวย อาศัยอยู่เป็นกลุ่มๆ มากบ้างน้อยบ้าง  กระจัดกระจาย อยู่ห่างกันระยะทางเดินเข้าหมู่บ้าน ๑ คืน ๒ คืนและ ๔-๕ คืนบ้าง  นักโบราณคดี มีความเห็นว่าดินแดนแถบนี้ ในอดีตบริเวณที่อยู่ในการปกครองของอาณาจักรขอมโบราณมาก่อน เพราะมีหลักฐานเป็นโบราณสถาน  เช่น  ปรางค์กู่ หรือปราสาทบ้านกู่ ปราสาทสมอ  ประสาทตาเล็ง  เป็นต้น

          เมืองขุขันธ์ในอดีตเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีอาณาเขตที่กว้างขวางมาก  คือ  มีอาณาบริเวณ ครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเดชอุดม  อำเภอน้ำยืน  จังหวัดอุบลราชธานี และ เมืองมโนไพร ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน เมืองขุขันธ์ในอดีตเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญ จึงมีบทบาททางการเมืองการปกครองที่สำคัญเมืองหนึ่ง  เมื่อเริ่มตั้งเมืองให้ขึ้นต่อเมืองพิมาย  และต่อมาได้ยกฐานะให้ขึ้นต่อกรุงเทพมหานคร

          การปกครอง เมืองขุขันธ์ในอดีต  ปกครองแบบเมือง หัวเมืองชั้นนอก  โดยระบบ  "จตุสดมภ์ "   มีประชาชน ประกอบด้วย เผ่าชนเขมร  เผ่าชนกูยหรือกวย เผ่าชนลาว เนื่องด้วยในอดีตเผ่าชนต่างๆ มีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว  ซึ่งเหตุผลการเคลื่อนย้ายก็แตกต่างกันไป    โดยอพยพเคลื่อนย้ายไปเป็นกลุ่มๆ  กลุ่มใหญ่บ้าง กลุ่มเล็กบ้าง  บางกลุ่มก็ตั้งเป็นชุมชนของเผ่าชนตนเอง  หรือ บางกลุ่มก็อพยพโยกย้ายไปสมทบกับกลุ่มชนเผ่าชนอื่นๆ ที่มีหลักแหล่งอยู่ก่อนแล้ว  อย่างไรก็ตามเพื่อยกฐานะเป็นเมือง จึงต้องรวมอยู่ในการปกครองเดียวกันซึ่งจะกล่าวถึง ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเป็นต้นมา

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีนั้นได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวางมาก  โดยครอบคลุมถึงอาณาจักรลาว และอาณาจักรกัมพูชา ในฐานะประเทศราช  อาณาจักรลาวมีศูนย์กลางปกครองที่นครเวียงจันทน์  ซึ่งในปี พ.. ๒๑๐๓ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้สร้างนครเวียงจันทน์ เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร ซึ่งกษัตริย์ของอาณาจักรลาวพระองค์นี้ เมื่อครั้งไทยทำศึกสงครามกับพม่า ได้ยกกองทัพมาช่วยไทยรบด้วย

          ปี พ.. ๒๒๕๗  ราชสำนักนครเวียงจันทน์  เกิดการแย่งชิงอำนาจการปกครองกันเอง ทำให้อาณาจักรลาว  เกิดการแตกแยก  ออกเป็น  ๓  ฝ่าย เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกัน คือ  อาณาจักรหลวงพระบาง  อาณาจักรเวียงจันทน์  และอาณาจักรจำปาศักดิ์ จากเหตุการณ์ แย่งอำนาจกันเองของอาณาจักรลาวในครั้งนี้ทำให้ชาวลาวกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนำโดยราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็ก  พร้อมด้วยภิกษุสามเณร และกลุ่มข้าทาสบริพารได้อพยพโยกย้ายหนีย้ายลงทางใต้  ผ่านทางพระธาตุพนมเลยลงไปจนถึงเมืองเขมร     ต่อมาได้อพยพเคลื่อนย้ายกลับมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองจำปาศักดิ์

          เมืองจำปาศักดิ์ เป็นเมืองเสมือนเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองอัตบือแสนแปง หรือแสนปาง  ต่างก็เป็นเมืองที่อยู่ในการปกครองของพวกลัวะข่า  ซึ่งขณะนั้นเมืองจำปาศักดิ์ ปกครองโดยนางแพง   มีบรรดาศักดิ์เป็น  " เจ้าหญิงลัวะข่า " ลูกผสมเป็นธิดาของนางเพา เจ้าหญิงลัวะข่าแท้ๆ กับเจ้าคำนางหรือเจ้านางคำ  ด้วยคุณงามความดีของเจ้าราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็ก นางแพงจึงมอบอำนาจการปกครองครองเมืองจำปาศักดิ์  ให้เจ้าราชครูหลวงด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ  เจ้าราชครูหลวงจึงได้อัญเชิญหน่อเชื้อพระวงศ์จากเวียงจันทน์   คือ  เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร  ขึ้นปกครอง  เมืองจำปาศักดิ์แทนนับแต่  .. ๒๒๖๑ - ๒๒๘๑

           การแยกเป็นเมืองอิสระ ของอาณาจักรลาวครั้งนี้ทำให้ทั้ง  ๓ เมือง เกิดการแย่งชิงการครอบครองเมืองต่อกัน  โดยต่างฝ่ายพยายามที่จะสะสมและสร้างแสนยานุภาพ ของเมืองตนเอง  เพื่อไว้ต่อสู้และป้องกันการรุกรานจากเมืองอื่น ทำให้วิถีความเป็นอยู่และวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้องระหว่าง ชาวเมืองจำปาศักดิ์กับชาวเมืองอัตปือที่มีอย่างแนบแน่น มีอันต้องเปลี่ยนแปลงไป  อันเนื่องจากกษัตริย์ลาวผู้ครองเมืองจำปาศักดิ์บีบคั้นบังคับให้เมืองอัตปือแสนปาง  ส่งช้าง  ม้า เพื่อสร้างกองทัพให้ได้ตามต้องการ  ทำให้ชาวเมืองอัตปือแสนปาง ประกอบด้วย เผ่าชนชาวกูยหรือกวย และเขมรบางส่วน ทนต่อการถูกบังคับไม่ไหว จึงได้อพยพโยกย้ายหนีข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่ง สมทบอยู่รวมกับ  เขมร และกูยหรือกวย ดั้งเดิมและบางส่วนได้รวมกลุ่มตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนของตนเอง  ตามบริเวณป่าดงดิบในดินแดนแถบอีสานใต้  อันได้แก่  พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์และบางส่วนของนครราชสีมา

          เมื่อเจ้าสร้อยศรีสุนทรพุทธากูร  ได้ปกครองเมืองจำปาศักดิ์แล้ว ต่อมาเจ้าราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็กจึงขยายอำนาจโดยแต่งตั้งชาวลาวที่มีความรู้ความสามารถออกไปปกครอง เมืองลัวะข่าต่างๆ    ภายในเขตเมืองจำปาศักดิ์ เช่น  ส่งจารย์ฮวด เป็นเจ้าเมืองสี่พันดอน ให้ท้าวมั่น ปกครองเมืองสาละวัน    ให้จารย์แก้วปกครองเมืองสุวรรณภูมิ  เป็นต้น

          ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การอพยพเคลื่อนย้ายของเผ่าชนต่างๆ ไม่ว่า ลาว  เขมร  กูยหรือกวย  ต่างก็มีเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน  คือ เพื่อหาความเป็นอิสระและหาแหล่งที่อยู่ที่อุดมสมบูรณ์ในการตั้งถิ่นฐาน  โดยได้แยกย้ายกันตั้งหลักแหล่งเป็นกลุ่ม  บางกลุ่มตั้งชุมชนในกลุ่มของตนเองขึ้นใหม่  บางกลุ่มก็นำกลุ่มเข้าสมทบอยู่ร่วมกับชุมชนกลุ่มเขมรป่าดงดั้งเดิมที่สำคัญ ประกอบด้วย
        กลุ่มที่ ๑  มีหัวหน้า ชื่อ  " เชียงปุม " มีหลักแหล่งอยู่ที่บ้านเมืองที ( จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบัน )
       กลุ่มที่ ๒ มีหัวหน้าชื่อ " เชียงสี " มีหลักแหล่งอยู่ที่บ้าน กุดหวาย ( ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอรันตบุรี จังหวัดสุรินทร์ )
        กลุ่มที่ ๓  มีหัวหน้าชื่อ  ตาสุ หรือตากะจะ และเชียงขันธ์ มีหลักแหล่งอยู่ที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน(บริเวณใกล้ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน หรือปราสาทกุด วัดบ้านเจ็ก อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน)
        กลุ่มที่ ๔  มีหัวหน้าชื่อ "เชียงฆะ" หรือ "เชียงเกา" มีหลักแหล่งอยู่บ้านอัจจะปะนึง ( อำเภอสังขะ ในปัจจุบัน )
        กลุ่มที่ ๕  มีหัวหน้าชื่อ "เชียงไชย"มีหลักแหล่งอยู่บ้านกุดไผทสิงขร (ปัจจุบันอยู่บริเวณพื้นที่ตำบลจาระพัด อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์)

           สำหรับกลุ่มชนต่างๆ ที่อพยพย้ายถิ่นไม่ว่าจะอพยพมาก่อน หรืออพยพมาหลังก็ตามต่างก็มีความผูกพันธ์กัน ในทางการประกอบอาชีพ และเชื้อสาย โดยเฉพาะกลุ่มชนชาวเขมร และกลุ่มชนชาวกูย หรือกวย  ต่างก็มีความชำนาญในการคล้องช้าง จับช้างป่า มาใช้งานทำการเกษตร หาของป่าบริโภค  ประกอบกับภูมิภาคแถบนี้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์  จึงทำให้มีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด เช่น ช้าง  เก้ง  กวาง ละมั่ง โคแดง  ฯลฯ ซึ่งเหมาะกับความถนัดในการที่จะประกอบอาชีพอย่างยิ่ง และเนื่องจากหัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงที่สำคัญทั้ง ๕  คน แม้จะแยกย้ายกันอยู่เป็นกลุ่มๆ คนละแห่งอย่างอิสระ   แต่ก็มีความผูกพันไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

            ในปีพุทธศักราช ๒๓๐๒ ตรงกับรัชสมัยในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ หรือ   สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นปลายรัชสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.. ๒๓๑๐ ) ได้เกิดเหตุอันไม่คาดฝัน กล่าวคือ ได้มีพระยาช้างเผือกแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ตกมัน แตกโรงช้างหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา เตลิดหนีไปทางทิศตะวันออกโดยผ่านดินแดนแถบเทือกเขาดงพญาไฟ เข้าสู่เขตเทือกเขาพนมดงเร็ก  พระเจ้าเอกทัศน์ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สองพี่น้องซึ่งเป็นทหารเอกในสมัยนั้น  (ทองด้วง กับ บุญมา  หรือต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท)  คุมไพร่พลจำนวน ๓๐ คน ออกติดตามพระยาช้างเผือก นำกลับกรุงศรีอยุธยา โดยคณะผู้ติดตามได้เดินทางถึงเมืองพิมาย เจ้าเมืองพิมายได้นำคณะผู้ติดตาม ไปพบและขอความร่วมมือช่วยเหลือจากหัวหน้าหมู่บ้านเขมรป่าดง  คือ เชียงสี  เชียงปุม  เชียงไชย และเชียงฆะ หรือ เชียงเกา   แต่ก็มิได้ข่าวคราวการหนีมาของพระยาช้างเผือก แต่ประการใด  ดังนั้น หัวหน้าหมู่บ้านกลุ่มชนดังกล่าวจึงได้นำคณะผู้ติดตามไปพบเพื่อขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าเขมรป่าดง แห่งบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน คือ ตาสุ หรือ ตากะจะ  และเชียงขันธ์    จึงได้ทราบว่ามีพระยาช้างเผือกหนีมาอาศัยในเขตพื้นที่บริเวณเทือกเขาพนมดงรักจริง

          ตากะจะ และเชียงขันธ์ ร่วมกับหัวหน้ากลุ่มชนเขมรป่าดง กลุ่มชน โดยมีตากะจะผู้อาวุโสเป็นผู้ประชุมวางแผนแล้วสั่งลูกบ้านเตรียมตัวออกค้นหาโดยใช้เวลา วัน ก็สามารถจับพระยาช้างเผือกได้    ป่าเชิงเขาพนมดงรัก แล้วนำมามอบให้คณะผู้ติดตามนำส่งพระยาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยา  ได้ร่วมเดินทางกับคณะนำพญาช้างเผือกส่งถึงกรุงศรีอยุธยาด้วย 

          การที่หัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงทั้ง ๕ กลุ่ม ได้ช่วยเหลือคณะผู้ติดตามจนสามารถจับพระยาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยาได้ในครั้งนี้ สองพี่น้องหัวหน้าคณะผู้ติดตามได้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ฯ ให้ทรงทราบถึงการติดตามจับพระยาช้างเผือกกลับกรุงศรีอยุธยาได้ในครั้งนี้  ว่าได้รับการช่วยเหลือจากหัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงทั้ง ๕ กลุ่ม เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ  จึงชื่นชมในคุณงามความดีที่หัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงที่ได้มีต่อกรุงศรีอยุธยา  จึงโปรดเกล้า ฯพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่หัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงทั้ง ๕ กลุ่ม ตามลำดับ  ดังนี้ 
๑. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  ตากะจะ   เป็น "หลวงแก้วสุวรรณ " และเชียงขันธ์  เป็น  "หลวงปราบ "
๒. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงปุม  เป็น  "หลวงสุรินทร์ภักดี "
๓. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงฆะหรือ เชียงเกา  เป็น  "หลวงเพชร "
๔. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงสี    เป็น  "หลวงศรีนครเตา "
๕. โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้  เชียงไชย เป็น  "ขุนไชยสุริยง"
        โดยให้หัวหน้ากลุ่มเขมรป่าดงทั้ง ๕ กลุ่ม เป็นนายกองหัวหน้าชุมชนหมู่บ้านในฐานะรับราชการขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย โดยอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา  ยกเว้น “หลวงปราบ” น้องชายหลวงแก้วสุวรรณ  เป็นผู้ช่วยนายกองหัวหน้าชุมชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน    เป็นการมอบอำนาจแก่นายกองหัวหน้าชุมชนหมู่บ้านกลุ่มเขมรป่าดงควบคุมปกครองดูแลสมัครพรรคพวก และลูกบ้านตนเองเพื่อเตรียมการยกฐานะชุมชนหมู่บ้านขึ้นเป็นเมืองต่อไป  จากความกรุณาที่ได้รับโปรดเกล้าฯ  ในครั้งนี้ทำให้นายกองหัวหน้าชุมชนหมู่บ้าน ทั้ง ๕ ชุมชนหมู่บ้าน มีความภาคภูมิใจและดีใจอย่างมาก   จึงตั้งใจที่จะรวบรวมพรรคพวกให้เข้าเป็นลูกบ้านให้มากที่สุด  และด้วยความเป็นผู้นำสามารถที่จะปกครองลูกบ้าน ให้อยู่ดี  มีสุข และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

           ในปี พ.ศ. ๒๓๐๖  ภายหลังจากได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกองหัวหน้าชุมชนหมู่บ้าน และได้สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้ชุมชนหมู่บ้าน เจริญก้าวหน้าพอสมควรแล้ว ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  จึงได้รวบรวมของป่า ได้แก่  งาช้าง  นอแรด  ขี้ผึ้ง  น้ำผึ้ง  ยางสน และ สิ่งของอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก  ร่วมกันนำกราบบังคมทูลเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ณ  กรุงศรีอยุธยา ต่างก็ได้กราบบังคมทูลถวายให้ทรงทราบถึงการปกครองดูแลหมู่บ้านชุมชนของตน ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกองหัวหน้าชุมชนหมู่บ้านให้ทรงทราบถึงความเจริญก้าวหน้า   และเมื่อพระองค์ทรงทราบถึงความตั้งใจในการที่จะปรับปรุงชุมชนหมู่บ้าน การรวบรวมไพร่พลมีจำนวนอันสมควร และได้แสดงความจงรักภักดีเช่นนี้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะชุมชนหมู่บ้านขึ้นเป็นเมือง  และโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ผู้ปกครองชุมชนหมู่บ้านให้มีบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้น  ดังนี้
         ๑. ชุมชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองขุขันธ์” (ชุมชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน แท้ที่จริงก็คือเป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมแถบบริเวณพื้นที่ทางทิศเหนือของอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันนั่นเอง “บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน” ขณะนั้นหาใช่ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านดวนใหญ่  อำเภอวังหิน  จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบันแต่อย่างใด และเมื่อยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า  “เมืองขุขันธ์” หาใช่ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า “เมืองศรีนครลำดวน” อย่างที่เข้าใจไม่  ดังหลักฐานในพงศาวดารระบุไว้) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ “หลวงแก้วสุวรรณ” (ตากะจะ) ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” ตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์เป็นท่านแรก และต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นชั้น “พระยา” ในราชทินนาม “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” โดยมีที่ตั้ง “ศาลาว่าราชการอยู่ที่เมืองขุขันธ์”  ฐานะหัวเมืองชั้นนอก  ขณะนั้นขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย
            ๒. โปรดเกล้าฯให้ชุมชนบ้านเมืองทีได้รับยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองประทายมันต์” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น  เมืองสุรินทร์) ทรงโปรดเกล้าฯให้ “หลวงสุรินทร์ภักดี”(เชียงปุม) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น  “พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง” ตำแหน่งเจ้าเมืองประทายสมันต์  
           ๓. โปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนบ้านอัจจะปนึง หรือบ้านโคกยาง ได้รับยกฐานะขึ้นเป็น "เมืองสังฆะ"  ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ “หลวงเพชร” (เชียงฆะ หรือ เชียงเกา)ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น  “พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ” ตำแหน่ง  “เจ้าเมืองสังฆะ” 
           ๔. โปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนบ้านกุดหวาย ได้รับยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองรัตนบุรี” ทรงโปรดเกล้าฯให้ “หลวงศรีนครเตา” (เชียงสี) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระศรีนครเตา” ตำแหน่ง “เจ้าเมืองรัตนบุรี”
            ๕. โปรดเกล้าฯให้ชุมชนบ้านกุดไผทสิงขร(บ้านจารพัต ในปัจจุบัน) ซึ่งมี “ขุนไชยสุริยง”(เชียงไชย) ตำแหน่งนายกองนอก ขึ้นตรงต่อเมืองสังฆะ
         โดยให้ทั้ง ๔ เมือง(ขุขันธ์ สุรินทร์ สังขะและรัตนบุรี) ทำราชการขึ้นกับเมืองพิมาย ภายใต้พระราชอำนาจแห่งพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยา จากการได้ยกฐานะเป็นเมืองและได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพิเศษ เช่นนี้ ทำให้เจ้าเมืองทั้ง  ๔ ปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง และต่างก็มีความตั้งใจในการที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เป็นระบบระเบียบขึ้น ให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ และปกครองบ้านเมืองโดยสุจริต  ยุติธรรม   สร้างความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย