-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566

"พระแก้วเนรมิต" องค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองขุขันธ์

  "พระแก้วเนรมิต" องค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งวัดลำภู เรียกเป็นภาษาขอมโบราณเมืองขุขันธ์ว่า ព្រះតាលំពូ /เปรียะฮฺ-ตา-ลมปู/ หรือ ព្រះដំរីក្រាប /เปรียะฮฺ-ด็อม-เร็ย-กราบ/ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี จวบจนถึงปัจจุบัน องค์พระสร้างมาจาก  สำริด หรือทองสำริด (bronze) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย (มาระวิชัย) หรือ ชนะมาร หรือ มารสะดุ้ง ภาษาขอมโบราณเมืองขุขันธ์ เรียกว่า ព្រះពុទ្អរូបផ្ចាញ់មារ เป็นพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะมารได้ ​มีประวัติเล่ามาว่า
  เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๑ พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯให้ทองด้วง (ต่อมาดำรงตำแหน่งเป็น พระยาจักรี และต่อมาเป็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งรัตนโกสินทร์) และบุญมา (ต่อมาดำรงตำแหน่งเป็น พระยาสุรสีห์ และต่อมา ร.๑ โปรดให้เสด็จเถลิงพระราช มนเฑียรที่พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ยกทัพไปปราบศึกกบฎที่เวียงจันทร์ โดยทรงมีบัญชาให้กองทัพจากเมืองขุขันธ์ร่วมทำศึกในครั้งนี้ด้วย ซึ่งนำทัพโดยพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตาสุ หรือตากะจะ) และน้องชายคือ หลวงปราบ(เชียงขันธ์)


            เมื่อชนะศึกได้ยกทัพกลับ กองทัพส่วนกลางได้อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางกลับสู่กรุงธนบุรี ส่วนกองทัพเมืองขุขันธ์ ได้อัญเชิญพระแก้วเนรมิต และพญาครุฑมาประดิษฐานไว้ที่เมืองขุขันธ์
   
คาถาบูชาพระแก้วเนรมิต
กล่าวนะโม 3 จบ แล้วต่อด้วยพระคาถาว่า

อิมัสมิง ลำภูวาเส  ปติฏฐิตัง
สิริสะเกสา  ฐิรัฏเฐ มหาชเนหิปูชิตัง
รัตนนิมิตนามัง  พุทธรูปัง ครุฑพาหนะนัง
อหังวันทามิ สัพพะทา
นะมะการานุภาเวนะ
สัพพะโสตถี ภวันตุเม ฯ
 
        
           ปัจจุบัน องค์พระแก้วเนรมิต ประดิษฐานไว้ ณ วัดลำภู(รัมพนิวาส) หมู่ที่ ๔ ตำบลใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ (วัดลำภูสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๓ ถึงปัจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๓ มีอายุ ๔๓๓ ปี)
  พระแก้วเนรมิต เลื่องลือในความศักดิ์สิทธิ์และแสดงอภินิหารมากมาย  นอกจาก พระแก้วเนรมิตแล้วยังมีสิ่งศักดิสิทธิ์อยู่คู่องค์พระแก้วเนรมิต คือ องค์พญาครุฑ ซึ่งองค์พระศักดิ์สิทธิ์สร้างมาจากที่ใด และใครเป็นผู้สร้าง ยังไม่ทราบแน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่า อัญเชิญมาจากเมืองลาว เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๑ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราช  พร้อมกันกับ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(พระแก้วมรกต) และองค์พระบาง     ซึ่งได้มาหยุดพำนักประดิษฐานที่เมืองขุขันธ์  ตามตำนานกล่าวว่า ได้มีการสมโภชน์องค์พระ ณ เมืองขุขันธ์  ๗ วัน ๗ คืน
            สำหรับพุทธานุภาพขององค์พระแก้วเนรมิต และพระครุฑ ที่เลื่องลือมานาน ก็คือ การดื่มน้ำสาบานแสดงความบริสุทธิ์  ผู้ที่ไม่สุจริตกระทำผิดจริงจะมีอันเป็นไปทุกราย บางรายถึงขั้นได้ว่ายบกก่อนเข้าวัด จนหน้าอกถลอกปอกเปิก  และบางรายรู้ด้วยตนเองว่าเป็นฝ่ายผิด ก็ยอมรับผิด และไม่กล้าที่จะดื่มน้ำสาบาน
           ความศรัทธาและความนิยมในองค์พระ เป็นที่นิยมของข้าราชการ  ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง พ่อค้า  คหบดี และประชาชนในจังหวัดและประเทศใกล้ไกลที่ได้ยินได้ทราบกิตติศัพท์ ตลอดจนประชาชนชาวอำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ  เมื่อได้มากราบสักการะบูชาแล้วจักมีชัยชนะ ประสบความสำเร็จและเจริญรุ่งเรืองตลอดไป


            นอกจากนี้ ที่บริเวณรอบวัดยังมีต้นมะขามตาไกรที่พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ซึ่งชื่อเดิมของท่านคือชื่อว่า ตาสุ  แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า តាកញ្ចា័ស /ตากัญจะฮฺ /เนื่องจากท่านเป็นนักรบรูปร่างสูงใหญ่ ) ท่านเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรกในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นผู้ปลูก  และด้านข้างต้นมะขามตาไกร ยังมีศาลปู่ตาพระยาไกรที่ชาวบ้านปลูกสร้างเพื่อบูชาต่อดวงวิญญาณของท่านมาถึงทุกวันนี้  เชื่อว่าเป็นต้นมะขามศักดิ์สิทธิ์จะดลบันดาลผู้มากราบไหว้ขอพร ประสบแต่ความสุขความเจริญ ชาวบ้านเรียกว่า ដើមអម្ពឹលតាក្រៃ /เดิม*-อ็อม-ปึล-ตา-กรัย/  และบริเวณด้านหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระอุโบสถวัดลำภู ยังมีเสาหลักเมืองเก่าหลักแรกของเมืองขุขันธ์ในอดีตตั้งแต่สมัยขอมโบราณ ทำมาจากไม้กันเกรา ถือเป็นไม้ที่มีความศักดิสิทธิ์ ซึ่งในสมัยพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตาสุ หรือตากะจะ) เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๑ ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธี​ ប្រក់ពល /ปร็อก-ป็วล*/ โดยเจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ของวัดลำภู คือราชครูบัว เป็นพระอาจารย์ของเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรกนั่นเอง ซึ่งพิธีปร็อกป็วล นี้ เป็นพิธีเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ไพร่พลให้เกิดความฮึกเหิม พร้อมที่จะออกไปร่วมรบและไปอัญเชิญองค์พระแก้วมรกต พระบางและองค์พระแก้วเนรมิตมาจากเมืองลาว และนอกจากนี้ยังมีองค์พระธาตุเจดีย์เก่าแก่ จำนวน ๒ องค์ (ซึ่งสร้างขึ้นราว พ.ศ. ๒๑๑๒ - ๒๑๒๗ รัชสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช กรุงศรีอยุธยา เสียแก่ พระเจ้าบุเรงนอง ราชวงศ์ตองอู แห่งกรุงหงสาวดี เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี  ดังนั้น  เมืองขุขันธ์ ในขณะนั้นจึงมีสถานะเป็นรัฐอิสระ เป็นระยะเวลา ๑๕ ปีด้วย) ที่เป็นร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของเมืองขุขันธ์ในอดีตตั้งแต่ยุคขอมโบราณมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ทุกท่านที่สนใจได้แวะเวียนมาสักการะ และเยี่ยมชมอีกด้วย

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย